ห้องสมุดประชาชนอำเภออุทัยยินดีต้อรับ เปิดบริการวันอาทิตย์-วันศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น. โทร.035711678

ข้อมูลทั่วไป

คำขวัญจังหวัดพระนครศรีอยุธยา : ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี  คนดีศรีอยุธยา



คำขวัญอำเภออุทัย : หลวงปู่ดู่คู่บ้าน อนุสรณ์สถานพระเจ้าตากสิน  ทั่วถิ่นคนใจธรรมะ โรจนะแหล่ง

อุตสาหกรรม

อนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


สถานที่ตั้ง วัดพรานนก หมู่ที่ 2 บ้านพรานนก ตำบลโพสาวหาญ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

13210

กิจกรรมที่ให้บริการ / ความรู้ / องค์ความรู้ / ความชำนาญ

1. ประวัติความเป็นมาวัดพรานนก “หลวงพ่อแดง”

2. เส้นทางเดินทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ประวัติความเป็นมาวัดพรานนก และอนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสิน

วัดพรานนกตั้งอยู่เลขที่ 166 บ้านพรานนก ตำบลโพสาวหาญ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา โฉนดเลขที่ 8806 อาณาเขตทิศเหนือยาว 132 เมตร ติดต่อกับลำรางสาธารณะ ทิศตะวันตกยาว 60 เมตร ติดต่อกับที่ดินเลขที่ 53 และทางสาธารณะ

วัดพรานนกมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวบ้าน และบุคคลทั่วไปในนามว่า “หลวงพ่อแดง” แกะสลักจากหินทรายแดง ปางมารวิชัย พระเพลากว้าง 29 นิ้ว สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นองค์เดียวที่รอดพ้นจากการถูกทำลายของข้าศึก

วัดพรานนกสร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2300 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ต่อมาได้กลายสภาพเป็นวัดร้างเพราะเป็นทางผ่าน และพักทัพของพระยาวชิรปราการ (พระเจ้าตากสิน) พร้อมสมัครพรรคพวกประมาณ 500 คน ได้ตีฝ่าวงล้อมของพม่าข้าศึกออกมาจากพระนครศรีอยุธยา

ทางค่ายวัดพิชัยแล้วมาตั้งพรรคพลเพื่อหาเสบียงอาหาร ที่บ้านพรานนก รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่

จุลศักราช 1128 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2309 กองทหารพม่าประกอบด้วยพลม้า 30 ม้า

พลเดินเท้าประมาณ 200 คน ยกพลผ่านมาพบทหารไทยที่ออกไปหาเสบียงอาหาร จึงเข้าไล่ต้อนจับคนไทยพระเจ้าตากสินเห็นเหตุการณ์เช่นนั้น จึงตัดสินใจโดยฉับพลัน กระโดดขึ้นม้าพร้อมด้วยทหารคู่ใจ อีก 4 ม้าขับม้าทะยานเข้าต่อสู้กับทหารพม่าข้าศึก 30 ม้า พระเจ้าตากสินใช้ความห้าวหาญเข้ากระทำการรบบนหลังม้าด้วยความรวดเร็วรุนแรงยังผลให้ทหารพม่าถูกฆ่าตาย และแตกพ่ายกระจัดกระจายไปสิ้น นับเป็นชัยชนะอย่างเด็ดขาด จากนั้นคนไทยที่รู้จักแต่คำว่า “แพ้” มาตลอดก็เริ่มฮึกเหิมรวมกำลังกันต่อสู้กับพม่าด้วยความเชื่อมั่นไม่เกรงกลัว จึงถือได้ว่าแสงสว่างแห่งเอกราชได้เรืองรองขึ้นแล้ว ณ เวลานั้น และเมื่อพระเจ้าตากสินได้กู้เอกราชคืนจากพม่าแล้วไม่สามารถบูรณะกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเหมือนเดิมได้ เพราะถูกทำลายจนเสีย-หายมาก จึงได้ตั้งเมืองหลวงขึ้นใหม่ที่ธนบุรี และสถาปนาเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี และเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่บ้านพรานนกพระองค์จึงทรงให้ชาวบ้านพรานนกที่ตามไปช่วยกู้ชาติอยู่ที่กรุงธนบุรี และให้ชื่อบ้านพราน-นกจนถึงทุกวันนี้

หมู่บ้าน และวัดพรานนก ได้ร้างตั้งแต่พระเจ้าตากสินมหาราช ได้เดินทัพจากไปตีเมืองจันทบุรี เพราะถูกทหารพม่าตามมาทำลายจนหมดสิ้น และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ให้เป็นวัดมีพระสงฆ์อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2472 ชาวบ้านได้เรียกว่า “วัดโพนทอง” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพรานนก”

ตามตำนานที่กล่าวมา พรานทองคำ ซึ่งเป็นพรานล่านกสมัยนั้น ได้จัดหาเสบียงให้พระยาวชิรปราการ เมื่อครั้งมาพักทัพยังบ้านพรานนกก่อนจะไปตีเมืองจันทบุรี

เพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษนักรบไทยอันเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไปเหล่าทหารม้าโดย พลตรียุทธพันธ์ มกรามณี ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าจึงได้ร่วมกับพระสงฆ์ ประชาชน ชาวบ้านพรานนก ตำบลโพสาวหาญ อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมใจกันสร้าง อนุสรณ์สถานขึ้น และได้อันเชิญ พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประทับบนหลังม้าศึกพร้อมด้วยทหารเอกคู่พระทัย 4 ท่านคือ หลวงพิชัยอาสา หลวงพรหมเสนา ขุนอภัยภักดี และหมื่นราชเสน่หายืนรายล้อมอยู่ประดิษฐานบนเนินดินภายในเก๋งจีน หกเหลี่ยมกว้าง - ยาว 8 เมตร ณ วัดพรานนก ตำบลโพสาวหาญ

อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2534 และเมื่อวันที่ 4 มกราคมของทุกปี

ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสระบุรี จะมาทำพิธีบวงสรวง และวางพานพุ่มถวายสักการะตลอดมา

วันเวลาที่ให้บริการ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 09.00 - 15.00 น. ต้องติดต่อล่วงหน้า

ค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมกิจกรรม / รับบริการ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ผู้รับผิดชอบ พระครูพิศิษฎ์บุญญากร และนายพนม คงไพศาล